มารู้จัก ชนิดและขนาดของเลื่อยวงเดือนกัน

เครื่องเลื่อยวงเดือน 

                เครื่องเลื่อยวงเดือน (Circular Saw) เป็นเครื่องจักรกลไม้ที่สำคัญเครื่องหนึ่ง เป็นเครื่องที่ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั้งในงานตัด (Cross-Cut) และงานซอย (โกรก) (Rip-Cut) และนอกจากนั้นยังสามารถใช้ทำงานอื่นๆ ได้อีก เช่น การทำบังใบวงกบประตู หน้าต่าง การะเซาะร่องไม้ การตัดเอียง การซอยเอียง ฯลฯ และยังสามารถตัดและซอยวัสดุอื่นๆ นอกจากไม้ได้ด้วย เช่น ไม้อัด วัสดุแผ่นสำเร็จรูปชนิดต่างๆ แผ่นพลาสติก

ปัจจุบัน เลื่อยวงเดือน มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น 



เลื่อยวงเดือน MAKITA รุ่น 5806B



จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
                1. บอกขนาดและความเร็วของเครื่องเลื่อยวงเดือนได้
                2. อธิบายส่วนประกอบของเครื่องเลื่อยวงเดือนได้
                3. บอกความปลอดภัยในการใช้เครื่องเลื่อยวงเดือนได้
                4. อธิบายลักษณะใบเลื่อยเครื่องเลื่อยวงเดือนได้
                5. อธิบายวิธีการใช้เครื่องเลื่อยวงเดือนได้
                6. อธิบายวิธีการถอดเปลี่ยนและการลับใบเลื่อยเครื่องวงเดือนได้
                7. อธิบายการบำรุงรักษาเครื่องเลื่อยวงเดือนได้
สาระการเรียนรู้
                1. ขนาดและความเร็วของเครื่องเลื่อยวงเดือนได้
                2. ส่วนประกอบของเครื่องเลื่อยวงเดือน
                3. ความปลอดภัยในการใช้เครื่องเลื่อยวงเดือน
                4. ลักษณะใบเลื่อยเครื่องเลื่อยวงเดือน
                5. วิธีการใช้เครื่องเลื่อยวงเดือน
                6. วิธีการถอดเปลี่ยนและการลับใบเลื่อยวงเดือน
                7. การบำรุงรักษาเครื่องเลื่อยวงเดือน

ขนาดและความเร็วของเครื่องเลื่อยวงเดือน 
                ขนาดของเครื่องเลื่อยวงเดือน  เรียกกันตามความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของใบเลื่อยที่ใหญ่ที่สุดที่จะติดตั้งในเครื่องนั้นได้ เช่น เครื่องเลื่อยวงเดือนขนาด 10 นิ้ว หมายความว่าเครื่องเลื่อยนั้นสามารถติดตั้งใบเลื่อยขนาดใหญ่ที่สุดได้ไม่เกินเส้นผ่านศูนย์กลางใบเลื่อย 10นิ้ว แต่หากต้องการติดตั้งใบเลื่อยที่เล็กกว่า 10 นิ้ว ก็ทำได้โดยทั่ว ๆไป ความเร็วและกำลังของเครื่องจะขึ้นอยู่กับขนาดของใบเลื่อยที่จะติดตั้งกับเครื่อง

 ส่วนประกอบของเครื่องเลื่อยวงเดือน 
                เครื่องเลื่อยวงเดือน มีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
                1. ฐานรองรับโครงเครื่อง (Base)
                2. แท่นเครื่อง (Table) มีลักษณะผิวเรียบ ขนาดกว้างยาวขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่อง บนผิวแท่นเครื่องจะมีร่องยาวสำหรับวางถุงอุปกรณ์ช่วยในการตัด และที่ขอบด้านหน้าและหลังติดตั้งแท่งเหล็กสำหรับบังคับรั้วเพื่อใช้ในการซอยไม้
                3. แผ่นปิดช่องใบเลื่อย (Table Insert) มีไว้สำหรับปิดช่องใบเลื่อย เพื่อป้องกันไม่ให้เศษไม้ตกลงไปใต้แท่นเครื่อง และถอดออกเมื่อต้องการเปลี่ยนใบเลื่อย
                4. มือหมุนสำหรับเลื่อนใบเลื่อยขึ้น-ลง (Saw Raising Hand Wheel) ใช้สำหรับยกใบเลื่อยให้สูงขึ้นหรือเลื่อนต่ำลงในการตัดหรือซอยไม้ที่มีความหนาต่างกัน โดยจะอยู่ใต้แท่นเครื่องด้านหน้า
                5. มือหมุนสำหรับเอียงใบเลื่อย (Saw Tilt Hand Wheel) ใช้สำหรับเอียงใบเลื่อยให้มีมุมเอียงกับแท่น  เพื่อใช้ในการตัดไม้หรือซอยไม้ที่เอียงเป็นมุมตามต้องการ โดยจะอยู่ใต้แท่นเครื่องด้านข้าง
                6. ครอบคลุมใบเลื่อย (Guard) อาจทำด้วยพลาสติกหรือโลหะแผ่น ติดตั้งกับโครงยึดมอเตอร์ เลื่อนตามการปรับยกใบเลื่อยขึ้นและลง
                7. มอเตอร์ (Motor) เป็นตัวกำลังขับเคลื่อนแกนเพลาที่ยึดใบเลื่อยโดยใช้สายพาน กำลังของมอเตอร์ที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องเลื่อยวงเดือน
                8. อุปกรณ์ช่วยในการซอยและตัดไม้
                - อุปกรณ์ช่วยในการซอยไม้ (Fence or Rip-Fence) เป็นอุปกรณ์ช่วยบังคับหรือนำในการซอยไม้ ทำด้วยโลหะหรือพลาสติก
                - อุปกรณ์ช่วยในการตัดไม้ (Miter Gauge) เป็นอุปกรณ์ช่วยจับ บังคับสำหรับการตัดไม้ ตัดปากกบไม้เป็นมุมต่างๆ ทำด้วยเหล็กหรืออะลูมิเนียม

 ความปลอดภัยในการใช้เครื่องเลื่อยวงเดือน 
                1. ปรับใบเลื่อย พร้อมอุปกรณ์ช่วยในการตัดหรือซอยไม้ให้ถูกต้อง จึงเปิดเครื่อง
                2. ใบเลื่อยจะต้องปรับยกให้สูงกว่าผิวงานประมาณ 1/8-1/4 นิ้ว (3-5มิลลิเมตร)
                3. เมื่อเปิดเครื่องเลื่อยวงเดือนแล้ว จะต้องรอให้ใบเลื่อยหมุนเต็มที่เสียก่อน จึงป้อนไม้เข้าซอยหรือตัด
                4. ในการปรับเครื่องเลื่อยส่วนใดๆก็ตาม จะต้องปิดเครื่องให้ใบเลื่อยหยุดนิ่งเสียก่อน
                5. ครอบคลุมใบเลื่อย โดยจะต้องคลุมใบเลื่อยตลอดเวลาในขณะที่ใบเลื่อยหมุน ยกเว้นในกรณีที่จะทำงานเฉพาะอย่างที่จะต้องถอดออก
                6. ไม่ยืนตรงแนวการตัดไม้หรือซอยไม้ ควรยืนเยื้องทางด้านข้าง
                7. ควรซอยไม้ก่อนตัดไม้ เพราะการซอยไม้สั้นและแคบ จะเป็นอันตรายมากกว่า
                8. ควรใช้อุปกรณ์ช่วยในการตัดไม้และซอยไม้ทุกครั้ง
                9. ไม่ควรตัดไม้หรือซอยไม้หลายๆ ท่อนพร้อมกัน
                10. ควรใช้ไม้ดัน (Push Stick) แทนมือ เมื่อต้องซอยไม้หน้าแคบและสั้น
                11. ไม่ควรยกไม้หรือมือข้ามใบเลื่อย ขณะใบเลื่อยหมุนอยู่
                12. ถ้าต้องการซอยไม้ยาวๆ ควรใช้ที่รองรับปลายไม้อีกด้านหนึ่ง หรือหาผู้ช่วยคอยพยุงปลายไม้ไว้
                13. การปรับใบเลื่อยในการตัดไม้หรือซอยไม้เอียงเป็นมุมต่าง ต้องแน่ใจว่าใบเลื่อยไม่เบียดกับส่วนอื่นๆ
ของเครื่อง และต้องใส่แผ่นปิดช่องใบเลื่อยเสมอ
                14. ป้อนไม้เข้าหาใบเลื่อยอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ อย่าป้อนเร็วจนเกินความสามารถของเครื่อง เพราะอาจจะทำให้มอเตอร์ชำรุดได้
                15. อย่าเปิดเครื่องทิ้งไว้โดยไม่ทำงานใดๆ ต้องปิดเครื่องและรอให้ใบเลื่อยหยุดนิ่งเสียก่อน จึงค่อยออกจากเครื่อง
4.4 ใบเลื่อยวงเดือน (Circular Saw Blade)
                ใบเลื่อยวงเดือนมีหลายขนาดและหลายลักษณะฟันเลื่อย เพื่อให้สะดวกในการตัดไม้หรือซอยไม้ได้อย่างประสิทธิภาพและประหยัดเวลา สามารถแบ่งลักษณะใบเลื่อยได้ดังนี้
                1. ใบเลื่อยตัด (Cross-Cut Blade) มีลักษณะฟันเลื่อยเล็ก ตรง แหลม ละเอียด และมีความถี่ของจำนวนฟันมาก ใช้สำหรับการตัดขวางเสี้ยนไม้ได้ดี
                2. ใบเลื่อยซอย (Rip-Cut Blade) มีลักษณะฟันเลื่อยใหญ่ หยาบ หลังฟันเลื่อยโค้ง ร่องฟันลึก เหมาะสำหรับการตัดไม้ตามเสี้ยนหรือขนาดเสี้ยนไม้
                3. ใบเลื่อยผสม (Combination Blade) ฟันเลื่อยชนิดนี้ได้นำเอาลักษณะฟันเลื่อยตัดและฟันเลื่อยซอยมารวมกันไว้ ใช้ได้ทั้งการตัดไม้และซอยไม้ แต่ประสิทธิภาพการตัดอาจไม่เทียบเท่าใบเลื่อยเฉพาะ
                4. ใบเลื่อยคาร์ไบด์ (Carbide Tip Blade) ฟันเลื่อยจะทำด้วยเหล็กชนิดพิเศษเรียกว่า Carbide Tip ติดไว้ที่ปลาย
ฟันเลื่อย เพื่อเพิ่มความแข็งและคมให้คงทน มีลักษณะฟันใหญ่ ทั้งฟันละเอียดและฟันหยาบ หลังฟันเป็นสันเหลี่ยม
ร่องฟันลึก สามารถใช้ทั้งตัดไม้และซอยไม้ได้ดี โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็ง และวัสดุชนิดอื่นๆเช่น วัสดุแผ่นใหญ่ เป็นต้น
                5. ใบเลื่อยตัดไม้อัด (Plywood Blade) ลักษณะฟันเลื่อยจะเล็กมาก ละเอียด มีความถี่ของจำนวนฟันมากกว่าฟันเลื่อยตัด ใช้สำหรับงานตัดแผ่นไม้อัดโดยเฉพาะ
                6. ใบเลื่อยสำหรับงานเซาะร่อง (Dado head) จะมีลักษณะใบเลื่อยอยู่2ชุด ชุดแรกจะประกบอยู่ภายนอกทั้ง 2ข้าง สำหรับการตัดของร่อง มีลักษณะฟันเลื่อยเป็นฟันผสม และชุดที่สองจะอยู่ภายในลักษณะมีคม 2ด้าน สำหรับขุดเนื้อไม้ออก มีหลายขนาดความหนา ใช้สำหรับงานเซาะร่องขนาดใหญ่ในครั้งเดียว งานทำบังใบวงกบ
4.5 วิธีการใช้งานเครื่องเลื่อยวงเดือน
                เลื่อยวงเดือนสามารถปรับให้ใช้งานทั้งตัดไม้และซอยไม้หลากหลายรูปแบบ เช่น  การตัดไม้หรือซอยไม้
หน้ากว้าง การเลื่อยซ้ำๆ การตัดปากกบไม้เป็นมุมต่างๆ การตัดไม้ให้ยาวเท่ากันหลายๆท่อน การทำเดือย การทำบังใบ โดยมีวิธีการใช้งานเครื่องเลื่อยวงเดือนดังต่อไปนี้

วิธีการซอยไม้ (Rip-Cut) การเลื่อยไม้ขนาดเสี้ยน ด้วย เครื่องเลื่อยวงเดือน 
                1. ไม้ที่จะซอยต้องเรียบและตรงอย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง และไม่ควรบิดงอมากเกินไป
                2. ตั้งระยะห่างระหว่างใบเลื่อยและรั้วให้ได้ความกว้างตามต้องการ แล้วล็อครั้วให้แน่น
                3. ปรับยกความสูงของใบเลื่อยให้สูงกว่าความหนาของไม้ที่จะซอย 1/8-1/4 นิ้ว (3-5มิลลิเมตร) 
                4. ถ้าเป็นการซอยไม้สั้นควรเตรียมไม้ดัน และหากเป็นไม้ยาวควรเตรียมที่รองรับปลายไม้ หรือหาผู้ช่วยพยุงปลายไม้
                5. เปิดเครื่องและรอให้หมุนเต็มที่ก่อน แล้วจึงป้อนไม้โดยให้ด้านเรียบแนบกับแท่นและขอบไม้ชิดกับรั้วที่ตั้งระยะไว้แล้ว
                6. ในขณะป้อนไม้ควรยืนให้เยื้องด้านข้างของไม้ ไม่ควรยืนอยู่ตรงแนวการซอย
                7. ถ้าจะเป็นต้องซอยไม้ที่มีความหนามากๆ ควรตั้งความสูงของใบเลื่อยให้มีคลองเลื่อยกินไม้ลึกครึ่งหนึ่งของความหนา แต่ไม่ควรเกินกว่าความสามารถในการตัดไม้ตามขนาดของใบเลื่อย แล้วกลับอีกด้านหนึ่งของไม้ ทำการซอยอีกครั้ง

 วิธีการตัดไม้ (Cross-Cut) การเลื่อยไม้ขวางเสี้ยนไม้ ด้วย เครื่องเลื่อยวงเดือน 
                1. ตั้งอุปกรณ์ช่วยในการตัดให้ได้ฉากหรือ 90องศากับใบเลื่อย โดยต้องวางอยู่ในร่องบนผิวแท่นเครื่อง
                2.เลื่อนรั้วให้พ้นระยะความยาวในการตัดหรือถอดออกจากแท่น เพื่อไม่ให้กีดขวางแนวการตัด
                3. ปรับยกความสูงของใบเลื่อยให้สูงกว่าความหนาวของไม้ 1/8-1/4 นิ้ว (3-5มิลลิเมตร)
                4. นำไม้ที่จะตัดวางด้านเรียบแนบกับแท่น ด้านขอบชิดกับ Miter Gauge (ต้องขีดเส้นแนวการตัดไว้ที่ผิวไม้ก่อน)
                5. เปิดเครื่องและรอให้เครื่องหมุนเต็มที่ก่อน แล้วจึงป้อนไม้โดยใช้มือทั้งสองข้างจับไม้ กับ Miter Gauge ให้แน่นแล้วเล็งแนวเส้นกับแนวใบเลื่อยให้ตรงกัน ค่อยๆเลื่อนไม้เข้าหาใบเลื่อยอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ
                6. การตัดไม้ยาวเท่าๆกัน จำนวนมากๆ จะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยตัด (Stop Block) เพิ่มขึ้นอีก ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
                - หลังจากปรับ Miter Gauge ให้ได้ฉากกับใบเลื่อย นำรั้ว ติดตั้งให้อยู่ในตำแหน่ง หาไม้ที่มีความหนาประมาณ 1-2 นิ้ว หนีบติดกับรั้ว
                - วัดระยะห่างหรือความยาวของไม้ที่จะตัดระหว่างใบเลื่อยไปจนถึงขอบไม้ที่หนีบติดกับรั้ว แล้วล็อคให้แน่น
                - ตัดหัวไม้ให้ได้ฉากก่อน แล้วจึงเลื่อนไม้ให้ไปชนกับไม้ที่หนีบติดกับรั้ว
                - จับไม้กับ Miter Gauge ให้แน่นแล้วจึงเลื่อนไม้ให้เข้าใบเลื่อย ตัดไม้ตามความยาวที่ตั้งไว้ เมื่อไม้ขาดแล้วจึงเลื่อน Miter Gauge ถอยกลับเข้าหาตัว
                - เริ่มตัดไม้ท่อนต่อไปตามลำดับ หรือจนครบตามจำนวนที่ต้องการ
ข้อควรระวัง ขณะตัดไม้ถ้ามีไม้ที่ตัดแล้วค้างอยู่บนแท่น ควรหยิบออกก่อน หรือหาผู้ช่วยคอยหยิบไม้ที่ตัดแล้วออก

 วิธีการตัดปากไม้เป็นมุมต่างๆ
                1. ควรเตรียมไม้ที่จะตัดปากไม้โดยการไสให้เรียบด้านหนึ่งเสียก่อน และควรวัดระยะแล้วขีดด้วยดินสอบนผิวไม้ให้เป็นมุมที่ต้องการ
                2. ปรับ Miter Gauge ให้ทำมุมที่ต้องการกับใบเลื่อย ควรให้มุมการตัดปากไมชี้ไปทางด้านหน้าเข้าหาใบเลื่อย เพราะจะทำให้สะดวกในการป้อนไม้
                3. ถ้าต้องตัดปากไม้จำนวนมากๆ ควรจะต้องทำตามวิธีตัดไม้ยาวเท่าๆกัน จำนวนมาก โดยใช้ไม้หนีบกับรั้วเพื่อตั้งระยะความยาวเท่ากัน
                4. การป้อนไม้เข้าตัดเป็นมุมก็ทำเหมือนกับการตัดไม้ให้ได้ฉาก
ข้อควรระวัง ควรจับไม้ที่จะตัดมุมให้แน่น เนื่องจากจะมีแรงส่งของใบเลื่อย อาจทำให้ไม้เลื่อน ไม่ตรงตามแนวที่วัดไว้

วิธีการทำบังใบ
                การทำบังใบไม้ด้วยเครื่องเลื่อยวงเดือน สามารถทำได้ทั้งที่หัวไม้และด้านข้างตามความยาวของไม้ มีขั้นตอนดังนี้
                1. ควรเตรียมไม้ที่จะทำบังใบ ด้วยการไสให้เรียบและได้ขนาดทุกด้านเสียก่อน วัดขนาดความกว้างและความหนาของบังใบ แล้วขีดเส้นทำเครื่องหมายไว้บนผิวไม้ที่เตรียมไว้
                2. ถอดครอบคลุมใบเลื่อยออกหมุนยกใบเลื่อยให้สูงจากผิวแท่นเท่ากับความหนาของบังใบที่ระยะ 3/8นิ้ว หรือ 1เซนติเมตร และวัดระยะห่างระหว่างริมนอกใบเลื่อยถึงขอบรั้วเท่ากับความกว้างของบังใบ ที่ระยะ 1 ¼ นิ้ว หรือ 3.2เซนติเมตร
                3. ป้อนไม้โดยให้ด้านหน้ากว้างของไม้แนบกับแท่น และด้านหน้าแคบชิดกับรั้ว ใช้มือกดไม้ให้แน่น และค่อยๆดันไม้เข้าหาเลื่อยช้าๆ และสม่ำเสมอจนสุดปลายไม้
                4. หมุนปรับยกใบเลื่อยให้สูงขึ้นเท่ากับความกว้างของบังใบที่ระยะ 1 ¼ นิ้ว หรือ 3.2เซนติเมตร และตั้งระยะห่างระหว่างใบเลื่อยกับรั้วเท่ากับความหนาของบังใบที่ระยะ 3/8 นิ้ว หรือ 1เซนติเมตร
                5. ป้อนไม้โดยให้ด้านหน้าแคบของไม้แนบกับแท่น และให้ด้านหน้ากว้างที่ซอยเป็นคลองเลื่อยไว้แล้วในครั้งแรกแนบกับรั้ว ใช้มือกดไม้ให้แน่น และค่อยๆดันไม้เข้าหาใบเลื่อยช้า และสม่ำเสมอจนสุดปลายไม้ ทำตามลำดับจนครบไม้ที่เตรียมไว้ทุกท่อน
ข้อควรระวัง ในการใช้เลื่อยวงเดือนซอยเพื่อทำบังใบควรติดตั้งใบเลื่อยที่มีความคม (หรือใบใหม่) ถ้ามี เนื่องจากจะทำให้รอยใบเลื่อยไม่เกิดรอยไหม้

วิธีการซอยไม้และตัดไม้ทำมุมเอียงกับแท่น
                การซอยไม้และตัดไม้ทำมุมเอียงกับแท่นด้วยเครื่องเลื่อยวงเดือน มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเหมือนกับการซอยไม้และการตัดไม้ตามปกติ เพียงแต่เพิ่มขั้นตอนการเอียงใบเลื่อยให้ได้มุมที่ต้องการกับแท่นทั้งการซอยไม้และการตัดไม้ โดยขั้นตอนการเอียงใบเลื่อยทำได้ดังนี้
                1. ถอดแผ่นปิดช่องใบเลื่อยและครอบคลุมใบเลื่อยออก
                2. หมุนมือเพื่อหมุนเอียงใบเลื่อยให้ได้มุมที่ต้องการ
                3. หมุนมือหมุนเพื่อยกใบเลื่อยให้สูงกว่าผิวไม้ 1/8-1/4 นิ้ว (3-5 มิลลิเมตร) ใส่แผ่นปิดช่องใบเลื่อยสำหรับการเอียงใบเลื่อย
                4. ปรับระยะรั้วสำหรับการซอยไม้ และปรับ Miter Gauge สำหรับการตัด

                5. ป้อนไม้สำหรับการซอยเอียงและการตัดเอียงตามลำดับ

การถอดเปลี่ยนใบเลื่อยวงเดือน
                โดยปกติจะมีการถอดเปลี่ยนใบเลื่อยเมื่อใบเลื่อยไม่คม หรือเปลี่ยนเพื่อนำใบเลื่อยชนิดที่เหมาะสมกับการซอยไม้หรือการตัดไม้มาใส่ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.               ปิดสวิตซ์และปิดเมนสวิตซ์ของเครื่องเลื่อยวงเดือน
2.               ถอดครอบคลุมใบเลื่อย และถอดแผ่นปิดช่วงใบเลื่อยออก
3.               หมุนใบเลื่อยขึ้นให้สูงสุด ใช้เหล็กสลักล็อคเพลา หรือใช้หัวไม้ขัดกับฟันใบเลื่อย เพื่อไม่ให้ใบเลื่อยหมุนตามขณะคลายนอตยึด
4.               ใช้ประแจคลายนอตยึดฝาประกับใบเลื่อยออกโดยทิศทางการหมุนออกตามเข็มนาฬิกาถอดฝาประกับใบเลื่อยและใบเลื่อยออกจากแกนเพลา
5.               เปลี่ยนใบเลื่อยใหม่ใส่เข้ากับแกนเพลา ถ้ารูแกนใบเลื่อยใหญ่กว่าก็ใช้แหวนรองระหว่างรูแกนเพลากับรูแกนใบเลื่อย แล้วใส่ฝาประกับใบเลื่อยพร้อมนอต ใช้ประแจขันล็อคให้แน่น

 การลับฟันใบเลื่อยวงเดือน
                การลับฟันใบเลื่อยวงเดือนให้มีความคมนั้น มีวิธีการลับแยกออกได้ตามลักษณะวัสดุที่ใช้ทำใบเลื่อย ถ้าเป็นใบเลื่อนแบบ Hi-speed อาจใช้การลับด้วยการใช้ตะไปคล้ายกับการตะไบคมเลื่อยลันดา ถ้าเป็นใบเลื่อยชนิดคาร์ไบด์ ควรใช้การลับด้วยเครื่องลับที่ออกแบบมาสำหรับการลับคมใบเลื่อยโดนเฉพาะ ซึ่งจะทำให้มีความแม่นยำ และได้ความคมแน่นอนกว่าซึ่งการลับใบเลื่อยด้วยตะไบมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.               เมื่อถอดใบเลื่อยออกจากเครื่องเลื่อยแล้ว ควรทำความสะอาดใบเลื่อยก่อน
2.               ใส่ใบเลื่อยเข้าปากกาจับใบเลื่อย (ปากกาจับงานหรืออาจทำขึ้นใช้เอง)
3.               การตะไบฟันใบเลื่อยซอย ควรใช้ตะไบแบบชนิดฟันละเอียด ตั้งใบเลื่อยให้ใบเลื่อยที่จะตะไบอยู่ด้านบน ล็อคให้แน่น แล้วใช้ตะไบถูไปที่ปลายคมฟันเลื่อยให้ได้มุมประมาณ 10-15 องศา จนกว่าฟันเลื่อยจะมีความคม แล้วทำเครื่องหมายไว้เพื่อให้ทราบว่าเริ่มตะไบฟันแรกที่ใด
4.               ทำตามขั้นตอนที่ผ่านมากับฟันเลื่อยฟันต่อไป และเวียนมาจนครบทุกฟัน
5.               การตะไบฟันเลื่อยตัด ควรใช้ตะไบสามเหลี่ยมชนิดละเอียด ตั้งใบเลื่อยให้ฟันตัดที่จะตะไบอยู่ด้านบน ล็อคให้แน่น แล้วใช้ตะไบถูที่ฟันเลื่อยเป็นมุมประมาณ 60 องศา ทำเครื่องหมายฟันแรกไว้ การตะไบฟันเลื่อยตัดนี้จะเหมือนวิธีการตะไบฟันเลื่อยลัยตา ตะไบฟันเลื่อยฟันต่อไปและเวียนมาจนครบทุกฟัน
ข้อควรระวัง การตะไบฟันเลื่อยด้วยมือควรพยายามตั้งมุมตะไบให้เท่าๆกันทุกฟัน

  ส่วนประกอบเครื่องลับใบเลื่อยวงเดือน
                ส่วนประกอบเครื่องลับใบเลื่อยวงเดือน ได้แก่
1.               ฐานเครื่อง ทำด้วยเหล็กหล่อ
2.               มอเตอร์ เป็นตัวขับให้หินเจียรระไนหมุน
3.               หินเจียระไน มีขนาด 5-7 นิ้ว ขึ้นอยู่กับขนาดเครื่อง สามารถปรับหมุนเอียงได้
4.               ก้านปรับมอเตอร์ (หินเจียระไน) สำหรับปรับเอียงหินเจียระไนให้ได้มุมเพื่อการลับฟันใบเลื่อย
5.               ชุดรองรับใบเลื่อย ทำหน้าที่รองรับใบเลื่อยขนาดต่างๆ สามารถเลื่อยเข้า-ออกตามรางเลื่อนได้ โดยทั่วไปจะรองรับใบเลื่อยได้ตั้งแต่ขนาด 3-12 นิ้ว
6.               รางเลื่อน มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม บากร่องเพื่อยึดชุดรองรับใบเลื่อย ปลายด้านหนึ่งยึดติดกับฐานยึด สามารถหมุนได้ ปลายอีกด้านหนึ่งติดตั้งมือหมุนปรับเลื่อนใบเลื่อยเข้า-ออกหินเจียระไน
7.               ฐานยึดรางเลื่อน มีลักษณะเป็นแท่งกลม ด้านบนยึดรางเลื่อนที่สามารถหมุนตามแนวราบ และมีสเกลบอกมุมของใบเลื่อยและก้านล็อค
8.               ก้านล็อครางเลื่อนและชุดรองรับใบเลื่อย ใช้ล็อคเมื่อชุดรองรับใบเลื่อยหมุนได้มุมแล้ว เพื่อการลับฟันใบเลื่อย
9.               สวิตซ์ สำหรับเปิด-ปิดเครื่อง

 วิธีการลับใบเลื่อยวงเดือน
                1. ปรับตั้งมุมมอเตอร์ (หินเจียระไน) ให้ถูกต้องกับมุมฟันใบเลื่อย
                2. นำใบเลื่อยวางบนชุดรองรับใบเลื่อย
                3. เลื่อนให้ฟันใบเลื่อยชิดกับหินลับ เพื่อตรวจมุมหินลับกับฟันใบเลื่อย
                4. เลื่อยถอยใบเลื่อยออก แล้วเปิดสวิตซ์เครื่อง
                5. ใช้มือจับใบเลื่อย แล้วเลื่อยแท่นรับใบเลื่อยเข้าชิดกับหินขณะหินลับหมุน เพื่อลับคมใบเลื่อย
                6. เมื่อลับคมฟันเลื่อยฟันแรกได้แล้ว ให้เลื่อยถอยใบเลื่อยออก แล้วหมุนเลื่อนฟันใบเลื่อยฟันต่อไปเข้าลับกับหินลับจนแล้วเสร็จทุกฟัน
                ข้อควรระวัง การลับฟันใบเลื่อยแต่ละฟัน ควรพยายามใช้ช่วงเวลาให้เท่าๆกัน


 การบำรุงรักษาเครื่องเลื่อยวงเดือน

                1. ทำความสะอาดเครื่องเลื่อยวงเดือนและบริเวณที่ทำทุกครั้งที่ทำงานเสร็จ หรือเลิกใช้งานประจำวัน
                2. ตรวจสอบใบเลื่อยอยู่เสมอก่อนใช้งานและหลังใช้งาน หากมีรอยบิ่น ชำรุด หรือฟันใบเลื่อยไม่คม ควรถอดไปลับฟันใบเลื่อยหรือเปลี่ยนใบเลื่อยใหม่
                3. ตรวจสอบ ครอบคลุมใบเลื่อยให้อยู่ในสภาพพี้อมใช้งานเสมอ
                4. ขณะใช้งานเครื่องเลื่อยวงเดือนหากมีเสียงผิดปกติเกิดขึ้น ควรปิดเครื่อง แล้วรับแจ้งผู้ควบคุม
                5. หากต้องหยุดใช้เครื่องเลื่อยวงเดือนเป็นเวลานานๆควรทำความสะอาดภายนอกเครื่อง ภายในเครื่อง และเคลือบผิวส่วนที่เป็นสนิมด้วยผ้าชุบน้ำมัน แล้วคลุมด้วยผ้าคลุมเครื่องเลื่อยวงเดือน
4.11 สรุป
                1. เลื่อยวงเดือนถูกออกแบบมาให้สามารถทำการซอยไม้ ตัดไม้ ซอยทำบังวงกบ เซาะร่อง การซอย การตัดเอียง และสามารถตัดวัสดุอื่นๆได้
                2. ส่วนประกอบของเครื่องเลื่อยวงเดือน
                                1. ฐานรองรับโครงเลื่อย (Base)
                                2. แท่นเครื่อง (Table)
                                3.แผ่นปิดช่องใบเลื่อย (Table Insert)
                                4. มือหมุนยกใบเลื่อย (Saw Raising Hand Wheel)
                                5. มือหมุนเอียงใบเลื่อย (Saw till Hand Wheel)
                                6. ครอบคลุมใบเลื่อย (Guard)
                                7. อุปกรณ์ช่วยในการซอย-ตัด
                                                - รั้ว (Fence)
                                                - อุปกรณ์ช่วยตัด (Miter Gauge)
               3. ความปลอดภัยในการใช้เครื่องเลื่อยวงเดือน
                1. ใบเลื่อยต้องยกสูงกว่าผิวงาน 1/8-1/4 นิ้ว (3-5 มิลลิเมตร)
                2. เปิดเครื่องเลื่อย แล้วรอให้ใบเลื่อยหมุนเต็มที่ก่อนจึงป้อนไม้
                3. ครอบคลุมใบเลื่อย โดยต้องครอบคลุมอยู่ตลอดการปฏิบัติงาน ยกเว้นงานที่ต้องถอดออก
                4. ไม่ยืนตรงแนวการซอยไม้หรือการตัดไม้
                5. ควรซอยไม้ก่อนตัดไม้ เพราะการซอยไม้สั้นและแคบจะมีอันตรายมากกว่า
                6. ควรใช้อุปกรณ์ช่วยในการซอยไม้และตัดไม้ทุกครั้ง

ขอขอบคุณข้อมูลเลื่อยวงเดือนจาก itoolmart

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เครื่องขัดกระดาษทราย

เลื่อยไฟฟ้า